การเงินโลกส่อวิกฤติ ‘หนี้’นอกสหรัฐพุ่ง 65ล้านล้านดอลล์

ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ เผย มีความเสี่ยงซ่อนอยู่ในระบบการเงินโลก จากหนี้ 65 ล้านล้านดอลลาร์ของสถาบันนอกสหรัฐถือผ่านอนุพันธ์สกุลเงิน

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ธนาคารเพื่อการชำระหนี้สินระหว่างประเทศ (บีไอเอส) ออกรายงานชื่อ “หนี้สินมหาศาลที่ผิดนัดและพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ” ระบุว่า การไม่มีข้อมูลทำให้ผู้กำหนดนโยบายตั้งรับวิกฤติการเงินรอบต่อไปได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขายกข้อกังวลกับข้อเท็จจริงเรื่องหนี้สินที่ไม่ได้บันทึกลงในงบดุลเนื่องจากวิธีการติดตามสถานะอนุพันธ์ในการทำบัญชีแบบเดิม

การเงินโลกส่อวิกฤติ

ข้อค้นพบจากฐานข้อมูลสำรวจตลาดการเงินทั่วโลกในปีนี้ ให้มุมมองที่หาได้ยากถึงขนาดของหนี้ซุกซ่อนอยู่ สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นตัวปัญหาระหว่างวิกฤติการเงินโลกปี 2551 และช่วงโควิด-19 ระบาดในปี 2563 เมื่อกองทุนดอลลาร์เกิดภาวะวิกฤติบีบให้ธนาคารกลางต้องก้าวเข้าไปช่วยเหลือผู้กู้ที่มีปัญหา

เพื่อให้แน่ใจว่าหนี้ได้รับการค้ำประกันอย่างเต็มที่และได้รับการสนับสนุนจากสกุลเงินสำคัญการทำงานของระบบอธิบายได้ด้วย การพิจารณาตัวอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญเนเธอร์แลนด์กองหนึ่งเข้าซื้อสินทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งมักใช้สัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อแลกยูโรเป็นดอลลาร์

จากนั้นเมื่อปิดธุรกรรมกองทุนจะจ่ายดอลลาร์คืนและได้รับเงินยูโร ตลอดระยะเวลาของการค้า ภาระการชำระเงินจะถูกบันทึกไว้นอกงบดุล ที่บีไอเอสเรียกว่า “จุดบอด” ในระบบการเงิน

คลาวเดีย บอริโอ, โรเบิร์ต แมคคอเลย์ และแพทริก แมคไกวร์ นักวิจัยจากบีไอเอส กล่าวว่า ความไม่ชัดเจนนี้เองทำให้ผู้กำหนดนโยบายเสียเปรียบ

“ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีนักวิเคราะห์กี่คนที่ตระหนักถึงข้อผูกมัดด้านงบดุลปริมาณมหาศาลที่มีอยู่นี้ ในช่วงเวลาแห่งวิกฤติ นโยบายเพื่อนฟื้นฟูเงินดอลลาร์ไหลเข้าในระบบการเงินอย่างราบรื่น ตัวอย่างเช่น การจัดวงเงินสำหรับธุรกรรมสวอปของธนาคารกลางถูกจัดทำขึ้นอย่างสับสน” รายงานระบุ

นักวิจัยบีไอเอส มองว่านี่เป็นขนาดของการแลกเปลี่ยนที่น่ากังวล พวกเขาประเมินว่าธนาคารที่มีสำนักงานใหญ่นอกสหรัฐแบกหนี้ 39 ล้านล้านดอลลาร์ กว่าสองเท่าที่มีอยู่ในงบดุล และมากกว่าเงินทุนที่มีถึงสิบเท่าหลักการทำบัญชีกำหนดให้บันทึกอนุพันธ์สุทธิ ดังนั้นเงินสดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องไม่ได้ถูกบันทึกไว้ด้วย

บอริโอ หัวหน้าฝ่ายการเงินและเศรษฐกิจของบีไอเอสกล่าวว่า ปริมาณหนี้ดอลลาร์นอกงบดุลถูกปกปิดไว้บางส่วน ความเสี่ยงชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศยังคงสูงมาก

การเงิน

จับตาความเสี่ยงการชำระบัญชี

รายงานอีกชิ้นหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (5 ธ.ค.) บีไอเอสกล่าวถึงความเสี่ยงในการชำระบัญชีอาจเป็นอีกหนึ่งชนวนสร้างความผันผวนในตลาดเงินตราต่างประเทศ นักวิจัยประเมินว่าสกุลเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ที่หมุนเวียนรายวันตกอยู่ในความเสี่ยงการชำระหนี้ มีความเป็นได้ที่คู่ค้ารายหนึ่งจะส่งมอบสินทรัพย์ไม่ได้

ไม่กี่วันก่อนนายเดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก แสดงความกังวลเกี่ยวกับปริมาณหนี้ของประเทศต่างๆ ทั้งที่ร่ำรวยและยากจนที่พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ โลกยังไม่มีระบบที่จะจัดการกับการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศที่มีรายได้น้อยที่มีประสิทธิภาพ

“ผมกังวลเกี่ยวกับกระบวนการจัดการกับการผิดนัดชำระหนี้ที่ยุ่งเหยิง เพราะโดยปกติมันก็ไม่มีระบบอะไรให้จัดการกับปัญหาหนี้ในประเทศยากจนอยู่แล้ว” นายมัลพาส กล่าว

ประธานธนาคารโลกยังกล่าวด้วยว่า “เราต้องเริ่มพูดถึงหนี้จำนวนมหาศาลที่เริ่มก่อตัวขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เพราะเมื่อหนี้ในประเทศพัฒนาแล้วสูงขึ้น ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจากทั่วโลกหากต้องการจะแก้ไข”

นายมัสพาส พยายามเตือนเกี่ยวกับระดับหนี้ทั่วโลกที่สูงเป็นประวัติการณ์มานานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธนาคารกลางประเทศต่างๆ พากันขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ

ธนาคารโลกเป็นผู้บริหารสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) ซึ่งมีหน้าที่หลักคือแก้ไขความยากจนขั้นรุนแรงใน 74 ประเทศ และสาเหตุหลักของปัญหาคือประเทศเหล่านี้เป็นหนี้ในระดับที่สูงมาก โดยในปีนี้ เป็นหนี้รวมกันถึง 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าในปี 2564 ถึง 35%

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศผู้บริจาค เช่น สหรัฐให้เงินช่วยเหลือ IDA แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่าย และราว 66% ของหนี้ทวิภาคีของประเทศในโครงการของ IDA มีจีนเป็นเจ้าหนี้

จีนเมินลดภาระหนี้ประเทศเล็ก

จีน เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลกของประเทศกำลังพัฒนา และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สนใจที่จะลดภาระหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ มักกล่าวหลายครั้งว่าปักกิ่งกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการพัฒนาของประเทศต่างๆ

ในขณะที่กลุ่ม G20 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จัดตั้งกระบวนการที่เรียกว่า Common Framework ซึ่งจะนำประเทศเจ้าหนี้ที่ร่ำรวยที่เรียกว่า Paris Club และดึงจีนมาด้วย ให้มาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับประเทศรายได้น้อยเป็นกรณีไป แต่ก็มีเพียง 3 ประเทศลูกหนี้ที่ลงนามขอเข้าร่วม ได้แก่ ชาด เอธิโอเปีย และแซมเบีย และหลังจากการเจรจาเกือบ 2 ปี ชาดกลายเป็นประเทศแรกที่สามารถบรรลุข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้

นายมัสพาส เรียกร้องว่า ทุกประเทศในโลกควรมีความรับผิดชอบที่จะปรับกระบวนการหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจีนก็ควรมีส่วนร่วมด้วย เขายังได้เสริมด้วยว่าเขากับคริสตาลินา จอร์จิวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) จะเดินทางไปจีนในสัปดาห์หน้า ซึ่งทั้งคู่มีแผนที่จะคุยกับทางการปักกิ่งเกี่ยวกับปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนา

ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : XSpring Digital เปิดตัวแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลตั้งเป้าขึ้นแท่น 1 ใน 3 ภายใน 3 ปี